วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

อักษรไทยสมัยสุโขทัย


อักษรไทยสมัยสุโขทัย

             ภาษาเขียนของคนไทยเกิดขึ้นหลังจากที่คนไทยสร้างเมืองของตนเองขึ้นแล้ว คือ สุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์องค์ที่ ๓ ของเมืองสุโขทัย
             เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปี ที่แล้วมา เมืองสุโขทัยของคนไทยนับว่า เป็นเมืองใหม่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านั้นชนชาติอื่นๆ รอบด้าน มีการรวมตัวกันเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว และที่เป็นเมืองแล้ว ต่างก็มีภาษาเขียนเป็นของตนเองทั้งสิ้น เมืองเขมร เมืองมอญ เมืองพม่า ล้วนมีภาษาเขียนของตนเองก่อนคนไทย ในยุคนั้น และก่อนหน้านั้น เท่าที่ปรากฏในอินเดีย ลังกา และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจารึกเรื่องของการปกครองเมือง ศาสนา และประชาชน นับเป็นประเพณีนิยมของกษัตริย์ทั่วไป เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นปกครองเมือง เมื่อมีการทำสงคราม การทำบุญครั้งใหญ่ หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นในเมือง ก็เป็นประเพณีของกษัตริย์ที่จะทรงบันทึกเรื่องราวไว้ในอินเดีย และลังกา มีการเก็บบันทึกจารึกต่าง ๆ ทั้งของวัดและกษัตริย์นับได้เป็นจำนวนแสน ประเพณีการจารึกเรื่องราวนี้ ได้แพร่หลายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และในย่านนี้จารึกโบราณมีทั้งภาษาบาลีสันสกฤต และต่อมาก็มีจารึกเป็นภาษาของคนพื้นเมืองด้วย คนไทยคงจะใช้ตัวอักษรอื่น ที่ใช้แพร่หลายกันอยู่ในย่านนั้นมาก่อน ซึ่งมีทั้งอักษรมอญ และขอม แต่เมื่อคนไทยมีเมืองเป็นของตนเอง มีกษัตริย์ไทยเองแล้ว แรงผลักดันที่จะต้องมีตัวอักษรของตนเอง เพื่อบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์ และเมืองตามประเพณีอยู่ในขณะนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้น การใช้ภาษาของไทยเองย่อมจะทำให้เมืองไทยมีฐานะเท่าเทียมกับเมืองอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เราอาจนับว่า การเป็นเมือง และประเพณีการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมือง เป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น
              ตัวอักษรที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นตัวเขียนที่มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากลายสือไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีที่แล้ว เข้าใจว่า คงจะได้เปรียบเทียบ หรือปรับปรุงจากตัวอักษรที่มีใช้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตัวหนังสือในปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยสุโขทัยมาก แต่ระบบของตัวพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ยังคงเดิม
              อักษรไทยมีใช้มานานประมาณ ๗๐๐ ปีแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่จะมีลักษณะแตกต่างไปจากภาษาในปัจจุบัน ทั้งในด้านการเขียน และการแทนเสียง และเพราะเหตุว่า ตัวเขียนไทยเป็นตัวอักษรแทนเสียง ระบบภาษาเขียนจึงเป็นเสมือนบันทึกของลักษณะเสียงของภาษาไทย เมื่อสมัยประมาณ ๗๐๐ ปี มาแล้วได้เป็นอย่างดี นักภาษาศาสตร์สามารถใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ อธิบายให้เห็นว่า เสียงของภาษาในสมัยสุโขทัย ต่างไปจากเสียงในสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

พยัญชนะ

               แม้ว่าอักษรไทยที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ซึ่งถือกันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นการจารึกอักษรไทยครั้งแรกนั้น ได้ใช้พยัญชนะไม่ครบทั้ง ๔๔ ตัว คือ มีเพียง ๓๙ ตัว ขาดตัว ฌ ฑ ฒ ฬ และ ฮ ไม่ครบชุดพยัญชนะเหมือนที่ใช้สอนวิชาภาษาไทยในโรงเรียนในปัจจุบัน แต่เราก็อาจสันนิษฐานว่า ระบบภาษาเขียน ในขณะนั้นมี จำนวนพยัญชนะ เท่ากับในปัจจุบัน ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ
ประการแรก
              จารึกหลักที่ ๒ และจารึกยุคต่อๆ มาใช้ตัวอักษรอีก ๔ ตัว ที่ไม่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ และถึงแม้เราจะไม่พบตัวอักษร "ฮ" ในศิลาจารึกในยุคต่อๆ มา ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า "ฮ" มีอยู่แล้วในระบบ
ประการที่ ๒
             คือ ภาษาเขียนนั้นประดิษฐ์ขึ้นเป็นระบบ ให้มีอักษรสูงทุกตัวคู่กับอักษรต่ำ "ฮ" มีขึ้น เพื่อคู่กับ "ห"
ประการที่ ๓
             คือ "ฮ" เป็นอักษรที่มีที่ใช้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอักษรอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำในภาษาสมัยโบราณ แม้ในขณะที่เขียนเรื่องภาษาอยู่นี้ ถ้าเราไม่กล่าวถึงตัว "ฮ" โอกาสที่เราจะใช้คำที่เขียนด้วยตัว "ฮ" แทบจะไม่มีเลย และเพราะเหตุนี้จึงไม่น่าที่จะมีการคิดเพิ่มอักษร "ฮ" ขึ้นภายหลัง เพราะไม่มีความจำเป็นในการใช้
            ในบรรดาตัวอักษร ๔๔ ตัวที่มีมาแต่สมัยโบราณ มีอยู่ ๒ ตัวที่เราเลิกใช้ไปแล้ว คือ ฃ (ขอขวด) และ ฅ (คอคน) ที่เราเลิกใช้ไปโดยปริยาย ก็เพราะเสียง ๒ เสียงนี้ เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นเสียงเดียวกับ ข และ ค ตามลำดับ ในภาษาไทยกลางเมื่อเราออกเสียง "ฃ" เป็น "ข" ก็เป็นธรรมดาที่เราจะไม่ทราบว่า คำโบราณใดบ้างที่เคยออกเป็นเสียง "ฃ" เวลาเขียนเราจึงไม่สามารถเลือกใช้ได้ถูก ซึ่งทำให้เราเลิกใช้ไปในที่สุด แต่ทั้งเสียง "ฃ" และ "ข" นี้ ยังมีใช้อยู่ในภาษาไทถิ่นอื่น คือ ในภาษาไทขาว ในเวียดนาม และตัวเขียนสำหรับ ๒ เสียงนี้ ก็ต่างกันด้วยในภาษาไทขาว
             เสียง "ข" และ "ฃ" เป็นเสียงที่มีใช้อยู่ในภาษาไทยสมัยสุโขทัยศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จึงได้มีการคิดอักษรแทนเสียง ๒ เสียงนี้ขึ้นในขณะนั้น และในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ใช้คำที่เขียนด้วยทั้ง "ข" และ "ฃ" หลายครั้งอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ คำใดที่เขียนด้วย "ฃ" เมื่อใช้ซ้ำอีกก็ใช้ "ฃ" ดังเดิม เช่น คำว่า ฃุน ฃึ้น และเฃา และการใช้อักษร ๒ ตัวนี้ก็ไม่ปะปนกันเหมือนในจารึก หรือการเขียนอื่นๆ ที่สำคัญมีนักภาษาศาสตร์นำคำที่ใช้เขียนด้วย "ข" และ "ฃ" ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไปเปรียบเทียบกับภาษาไทถิ่นอื่นๆ เช่น ไทขาวก็พบว่า เป็นคำที่ใช้เสียงประเภทเดียวกัน และแยกเสียง "ข" และ "ฃ" เหมือนกัน เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่เป็นมรดกตกทอดมาจากภาษาไทโบราณเก่าแก่ ตั้งแต่ยังไม่มีอักษรเกิดขึ้น ภาษาไทถิ่นต่างๆ ยังใช้คำเหล่านี้อยู่ แต่ว่าเสียงที่ใช้ในคำเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในหลายถิ่น อันที่จริงเราสามารถเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคหลังศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวคือ การใช้ "ข" และ "ฃ" เริ่มไม่สม่ำเสมอ คำๆ เดียวกันบางครั้งก็เขียนด้วย "ข" บางครั้งก็เขียนด้วย "ฃ" แสดงว่า ผู้เขียน หรือผู้จารึกเริ่มแยกเสียง ๒ เสียงนี้ไม่ออก เสียงทั้งสองอาจเริ่มฟังเหมือนกัน เราต้องไม่ลืมว่า ในสมัยสุโขทัยไม่มีโรงเรียนสอนภาษา หรือพจนานุกรม ที่ผู้ใช้ภาษาอาจใช้อ้างอิงได้ แต่การเขียนแทนเสียงต้องมาจากการฟังและได้ยินเสียงที่ต่างกัน จึงจะเขียนด้วยอักษรที่ต่างกัน แม้สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่แสดงว่า เสียง "ฃ" ได้หายไปแล้วโดยสิ้นเชิง แต่ยังมีผู้ใช้ "ฃ" เพราะว่า เป็นตัวอักษรที่มีอยู่ กล่าวคือ คำหนึ่งๆ ใช้เขียนได้ทั้ง ๒ แบบ และที่ใช้ "ฃ" เขียนนั้น บางคำก็มาจากภาษาเขมร บางคำก็มาจากภาษาบาลี
            ตัวอย่างการใช้อักษร ๒ ตัวนี้ปะปนกัน แสดงว่า เสียงได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้เขียนยุคหลังศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ไม่มีความรู้ว่า คำใดเคยเขียนด้วย "ฃ" จึงเขียนไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ใช้ภาษาไทยยุคอื่นไม่มีทางทราบได้ และไม่มีหลักยึดว่า คำใดควรเขียนด้วย "ข" หรือ  แต่ในยุคของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เสียงทั้ง ๒ นี้ยังต่างกันอยู่ ผู้จารึกจึงเขียนได้ และคำเหล่านี้ เมื่อนักภาษาสมัยใหม่ตรวจสอบกับคำภาษาไทถิ่นอื่น ตามหลักการทางภาษาศาสตร์ ก็ปรากฏว่า "ฃ" เป็นคำที่ใช้เสียง "ข" และ "ฃ" มาก่อนจริง ตัวอักษร "ฃ" จึงใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีขึ้นก่อนที่เสียง "ฃ" จะเปลี่ยนแปลงไปในสมัย สุโขทัยยุคต่อมา สมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์
โดยสรุปในแง่ของพยัญชนะที่ประดิษฐ์ขึ้น ในสมัยสุโขทัยก็คือ มีจำนวน ๔๔ ตัวอักษร เท่าที่ปรากฏในสมัยปัจจุบัน แต่การเขียนตัวอักษรได้เปลี่ยนแปลงไปมาก
สระ
           การเขียนสระในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ต่างจากการเขียนสระในสมัยปัจจุบันมาก ทั้งรูปร่างสระ และวิธีการเขียน กล่าวคือ สระเขียนอยู่ในบรรทัดเช่นเดียวกับพยัญชนะ แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมา ได้กลับไปเขียนแบบให้มีสระอยู่รอบๆ พยัญชนะ คือ มีทั้งที่เขียนข้างหน้าข้างบน ข้างหลัง และข้างล่าง พยัญชนะที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนนี้คงให้เหมือนกับระบบภาษาเขียนอื่น ที่คนไทยสมัยนั้นใช้อยู่ก่อน และมีความเคยชินด้วย นอกจากเรื่องตำแหน่งแล้ว วิธีเขียนสระก็ต่างไปคือ สระอัว ในหลักที่ ๑ ใช้ วว ในคำที่ไม่มีเสียงสะกด เช่น หวว "หัว" ตว "ตัว" ถ้ามีตัวสะกดก็ใช้ "ว" ตัวเดียว เช่นเดียวกับในปัจจุบัน เช่น สวน แสดงว่ายังไม่มีการใช้ไม้หันอากาศ เพราะเสียง "ะ" ในคำที่มีตัวสะกดก็ใช้พยัญชนะสะกดซ้ำ ๒ ตัว เช่น มนน "มัน" แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมา ก็มีการใช้ไม้หันอากาศ ส่วนสระเอียใช้เขียนเป็น "ย" เช่น วยง "เวียง" สยง "เสียง" โดยภาพรวมแล้ว สระที่มีการเขียนเป็นตัวอักษรแทนเสียง มีจำนวนเท่ากับสระในปัจจุบัน

วรรณยุกต์

             รูปวรรณยุกต์ที่ใช้เขียนกำกับในยุคสุโขทัย มีเพียง ๒ รูป คือ ไม้เอก และไม้โท แต่ไม้โทใช้เป็นเครื่องหมายกากบาทแทน สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับรูปวรรณยุกต์คือ ไม่ใช่ตัวอักษรแทนเสียง ในทำนองเดียวกับตัวพยัญชนะและสระ เพราะไม้เอกไม่ได้กำกับเฉพาะคำที่มีเสียงเอกเท่านั้น ในทำนองเดียวกันไม้โทก็ไม่ได้กำกับเสียงโทเท่านั้น แต่เสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนไปตามลักษณะพยัญชนะ ต้นของคำ คือ ไม้เอก บอกเสียงเอกในคำที่ขึ้นต้น ด้วยอักษรสูงและกลาง แต่บอกเสียงโทในคำที่ขึ้น ต้นด้วยอักษรต่ำ และไม้โท บอกเสียงโทในคำที่ มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงและกลาง แต่บอก เสียงตรีในคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรต่ำแสดงว่า รูปวรรณยุกต์ไม่ได้ใช้แทนเสียงหนึ่งเสียงใดโดยเฉพาะ แต่ใช้บอกความต่างกันของเสียงเท่านั้น ซึ่งน่าจะหมายความว่า รูปวรรณยุกต์แบบนี้สร้างขึ้น เพื่อให้ใช้ผันเสียงวรรณยุกต์กับอักษรสูง กลาง ต่ำ ใช้ แสดงความแตกต่างกัน และจะใช้กับเสียงวรรณยุกต์ในถิ่นใดก็ได้ และคงเป็นเพราะรูปวรรณยุกต์ มิได้ใช้แทนเสียงวรรณยุกต์ใดวรรณยุกต์หนึ่งนี้เอง ที่ทำให้จารึกในยุคหลังๆ ไม่ใช้วรรณยุกต์กำกับ เลยก็มี


อักขระวิธีของลายสือไทย
          การวางสระไว้บนบรรทัดเดียวกับพยัญชนะต้น โดยวางไว้ข้างหน้าและข้างหลังพยัญชนะ (ไม่มีสระวางบนและล่างตัวพยัญชนะ) ซึ่งมีอักขรวิธีต่างกับอักษรไทยสมัยอื่นๆ และอักษรของเพื่อนบ้าน คือ อักษรของ อักษรมอญ รวมทั้งอักษรล้านนา และอักษรตัวธรรมของอีสาน จึงถูกกล่าวหาว่าลายสือไทยนั้นวางสระพิสดาร ผ่าเหล่าผ่ากอ ไม่เหมือนกับอักษรต้นแบบและอักษรเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่พัฒนามาจากอักษรอินเดียใต้ ที่เรียกว่า อักษรปัลลวะ หรือ อักษรคฤนถ์ นักวิชาการหัวก้าวหน้าจึงสรุปว่า ลายสือไทยมีอักขรวิธีเหมือนอักษรฝรั่งที่ปัญญาชนไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ เพิ่งจะพบเห็น 
          ฉะนั้นจะอยากจะอธิบายตัวอักษรและอักขรวิธีในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีอักขรวิธีพิสดาร ผ่าเหล่าผ่ากอ โดยเฉพาะวางสระไว้บนบรรทัดเดียวกับพยัญชนะซึ่งเป็นข้อพิรุธฉกรรจ์ที่สุดของศิลาจารึกหลักที่ ๑ และเป็นหลักฐานที่จะโน้มน้าวให้คนทั่วไปเชื่อเถือว่า เป็นอักษรไทยที่ผิดแบบแผน ที่วางสระต่างกับอักษรสมัยพระเจ้าลิไทและอักษรต้นแบบอื่นๆ ซึ่งมีอักขรวิธีแนวเดียวกัน คือวางสระไว้รอบพยัญชนะตันทั้งข้างหน้าข้างหลัง ข้างบนข้างล่าง แต่อักขรวิธีของพ่อขุนรามคำแหงกลับวางสระไว้หน้าและหลังพยัญชนะต้นบรรทัดเดียวกัน คือ เหมือนอักษร ฝรั่ง หรือ อักษรโรมัน 
          เรื่องอักขรวิธีของลายสือไทยที่ไม่ตรงกับอักษรต้นแบบคือ อักษรมอญ โบราญและขอมโบราณนั้น ความเป็นจริงแล้วถ้าเราศึกษาระบบอักขรวิธีอักษรต้นแบบทั้งสองจะพบว่ามีรูปสระ ๒ ชนิด และมีระบบการใช้แตกต่างกันคือ สระจม (รูปร่างและวิธีใช้เหมือนสระไทยปัจจุบัน และสมัยพระเจ้าลิไท) และสระลอย (ใช้ระบบเดียวกับสระพ่อขุนรามคำแหง) ซึ่งอาจจะอธิบายว่า สมัยพ่อขุนรามคำแหงเลือกใช้สระลอยแบบเดียว และนำมาใช้เป็นสระจมด้วยจึงต้องวางไว้บนบรรทัด เดียวกันกับพยัญชนะตามอักษรต้นแบบ ดังจะอธิบายต่อไปนี้ โดยใช้อักษรขอมเป็นตัวอย่าง และเลือกเฉพาะสระที่เป็นปัญหา 
          ๑. สระสมัยพ่อขุนรามคำแหงมี ๒๐ ตัว วางไว้หน้าและหลังพยัญชนะ ดังนี้
              ๑.๑ วางสระอยู่หน้าพยัญชนะ ๑๐ ตัว คือ อิ อี อึ อื อุ อู เอ แอ โ ใ ไ 
              ๑.๒ วางสระไว้หลังพยัญชนะ ๕ ตัว คือ อะ อา อำ อัว ออ 
              ๑.๓ วางสระไว้หน้าส่วนหนึ่ง และหลังส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็น รูปประสมของสระในข้อที่ ๑ และ ๒ จำนวน ๕ คือ (แอะ) (เอีย) (เอือ) (เออ) (เอา)

          หากพิจารณารูปสัณฐานแล้ว พบว่ามีแปลกปลอมกว่าสระไทย (สมัยพระยาลิไท และปัจจุบัน) เพียง ๕ รูป ที่เป็นตัวปัญหา ซึ่งสระทั้ง ๕ รูป อักขรวิธีไทยปัจจุบัน วางสระไว้บนพยัญชนะ ๓ รูป (อิ อี อึ/อื) และวางไว้ล่างพยัญชนะ ๒ รูป คือ อุ อู
          สระทั้ง ๕ รูปนี้ ในอักษรขอมและมอญจะมีรูปสระจมและสระลอย สระจมจะวางไว้บนและล่าง พยัญชนะ บนบรรทัดเดียวกัน ฉะนั้นพ่อขุนรามคำแหงได้ปรับเปลี่ยน รูปสระทั้ง ๕ ตัว ให้สามารถวางไว้บนบรรทัด ดังตารางที่ ๒ 

ตารางที่ ๒
          ฉะนั้นจะเห็นว่าสระที่มีปัญหาเพียง ๕ รูปนั้น พ่อ ขุนรามคำแหงนำมาไว้หน้าพยัญชนะเหมือนกับสระลอยเขมร (สระมอญ มีสระจม และสระลอย เช่นเดียวกับเขมร) เท่านั้น (หากรวมกับรูปสระประสมอีก ๒ รูป คือ เอีย และ เอือ เป็น ๗ รูป) อื่นๆ นั้นตรงกับสระสมัยพระยาลิไทและสระไทยปัจจุบัน
          ในกรณีนี้อาจจะสรุปได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปสระเพียง ๕ รูป (รวมกับสระประสมอีก ๒ รูป รวมเป็น ๗ รูป) โดยยึดแบบแผนจากสระลอยของเขมรและอักษรมอญ แต่เราดูเหมือนว่าแตกต่างไปมาก เพราะเหตุว่าภาษาไทยมีเสียงสระ ๕ รูป และสระประสมกับ อี อื  จำนวนมาก จึงดูว่าสระของเราวางไว้บน-ล่าง จำนวนมาก หากเราพิจารณาจำนวนแล้ว สระไทยปัจจุบันวางไว้หน้าพยัญชนะต้นจำนวนมากเช่นเดียวกัน 
          ฉะนั้นหากนักวิชาการไทยได้ศึกษาด้านอักษร (อักขรวิทยา) กันอย่างจริงจัง จะพบว่าตัวอักษรมีการคลี่คลายรูปสัณฐานไปทุกยุคทุกสมัย และเข้าใจที่มาของอักษรพ่อขุนรามคำแหง (ลายสือไทย) จะไม่เห็นว่าอักขรวิธีของลายสือไทยพิสดารแต่อย่างใด
สระสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่ตกค้างอยู่ในอักขรวิธีสมัยพระยาลิไท
          จากการศึกษาศิลาจารึกสมัยพระยาลิไท และจารึกสมัยสุโขทัยที่สร้างสมัยหลังๆ พบว่าได้มีอักขรวิธีของพ่อขุนรามคำแหงปะปนอยู่จำนวนหนึ่ง (หลายหลัก หลายแหล่ง) แสดงว่านักปราชญ์สมัยหลังพ่อขุนรามคำแหงยังใช้อักขรวิธีของพ่อขุนรามคำแหงยังใช้อักขรวิธีของพ่อขุนรามคำแหงจนเคยชิน 
เมื่อพบคำที่ไม่ค่อยจะใช้ บ่อยนักโดยเฉพาะคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียงสระ มักจะเขียนด้วยสระสมัยพ่อขุนรามคำแหง แสดงให้เห็นว่านักปราชญ์เหล่านั้นเคยใช้อักขรวิธีสมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้ว  หากอักขรวิธีแบบลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงไม่เคยใช้กันมาก่อน ปัญญาชนไทยสมัยพระยาลิไทจะเขียนหนังสือผิดพลาดโดยใช้รูปสระของลายสือไทยได้ถูกต้องทุกแห่งอย่างไร นั่นคืออักขรวิธีสมัยพ่อขุนรามคำแหงเคยใช้ก่อนสมัยพระลิไท ตัวอย่างเช่น

จารึกหลักที่ ๒
- ผู้หนึ่งชื่อท้าวอีจาน (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘)
                              (อีจาน)
- พ่อขุนบางกลางหาวได้ชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์เพื่อพ่อขุนผาเมืองเอาชื่อตนให้แก่พระสหาย (ด้านที่ ๑ บรรทัดที ๓๔)
                              (อินทรบดินทราทิตย์) 
- พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์เพื่อพ่อขุนผาเมือง (ด้านที่ ๑ บรรทัดที ๓๕)
                              (อินทรบดินทราทิตย์) 
- สรรพญเดญาณอิงใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๗)
                              (อิง)
- เป็นต้นว่า คนอีกแพะแลหมูหมาเป็ดไก่ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๖)
                              (อีก)
- แบกอิด (อิฐ) แต่ต่ำขึ้นไปกระทำพระ(ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๑)
                              (อิด)

จารึกหลักที่ ๓ (จารึกนครชุม) 
- ธรรมชาดกอันอื่นใส้ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๘)
                              (อันอื่น)
- จักมาพึ่งมาอิง (ด้านที่๒ บรรทัดที่ ๔๑)
                              (อิง)

จารึกหลักที่ ๘ (เขาสุมนกูฏ)
- สาธุการบุชาอีกดุริยพาทย์พิณ  (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๙)
                              (อีก)

จารึกหลักที่ ๖๒ (วัดพระยืน-พระสุมนเถระ)

- มีอินทรีย์อันสานต์ (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๕)
                              (อินทรีย์)
- อีกทั้ง (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๖)
                              (อีกทั้ง)
- จึงให้เชิญฝูงมหาเถร (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๕)
                              (เชิญ) ฯลฯ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น